Pages

Tuesday, October 25, 2011

ม้าพันธุ์เธอร์รัพเบรต Thoroughbred

ม้าพันธุ์เธอร์รัพเบรต Thoroughbred


Thoroughbred ม้าพันธุ์เธอร์รัพเบรต หรือต่อไปจะขอเรียกว่า Tb เนื่องจากเป็นการอนุโลมให้เรียกตามสากล คำคำนี้โดยความหมายก็อาจจะแปลได้ว่า เป็นม้าที่เป็นผลจากการผสมกันของม้าพื้นเมืองทั่วๆ ไป โดยไม่ใช่การสืบสายเลือดมาจากสายพันธุ์แท้ หรือไม่สามารถนับได้ว่าเป็นสายพันธ์แท้ ( Purebred ) แต่หากดูจากโครงสร้างแล้วจะพบว่า ม้า TB เป็นผลผลิตของม้าเลือดร้อนหรือม้าอาหรับ ผสมกับม้าเลือดเย็นแถวๆ อังกฤษ เช่นพวก Draft Horse หรือม้าใช้งานในฟาร์มที่มีส่วนสูงถึง 18 แฮนด์ ดังนั้นม้า TB จึงมีรูปร่างเพรียวสูงใหญ่แต่มีขาเรียวเล็ก ซึ่งพวกเรารู้จักกันดีในนามของม้าแข่ง ลักษณะเด่นของม้า Tb คือ สูง เพรียว แข้งขายาว ส่วนสูงที่วัดได้ถึงตะโหนกประมาณ 15.2 -17 แฮนด์ สีที่พบเห็นส่วนใหญ่จะเป็นสีเดียว เช่น สี Bay , Brown ,Chestnut หรือสี Grey และสีที่พบน้อยคือ สี Roan สีพาโลมิโน และ สีขาวแบบ White เป็นม้าที่จัดว่าเป็นสายเลือดร้อน หรือ Hot Blood ประเทศแหล่งกำเนิดคือประเทศอังกฤษ ประโยชน์ใช้สอยคือ ใช้แข่ง ขี่ข้ามสิ่งกีดขวาง เดรสสาจ และเป็นพ่อม้าที่ใช้ปรับปรุงพันธุ์ม้าพื้นเมือง (Upgrade)

การพัฒนาสายพันธุ์ เชื่อกันว่าในระยะแรกหรือประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ได้มีการนำม้าอาหรับไปผสมไขว้กับแม่พันธุ์พื้นเมืองที่เกาะอังกฤษ โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีการพัฒนามาจากพ่อม้าสามตัวที่นำเข้ามากับ แม่ม้า ประมาณ 76 ตัว ที่เป็นสายอาหรับหรือ บาร์บของสเปน หลังจากนั้นจึงแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก โดยใน ค.ศ. 1730 ได้มีการนำเข้าไปยังอเมริกาเหนือ ใน ค.ศ. 1814 ถูกนำเข้าไปในออสเตรเลีย และนำเข้าไปยังยุโรปและญี่ปุ่นในประมาณ คริสศตวรรษที่ 18 โดยปัจจุบันมีม้า Tb ในอเมริกาแห่งเดียวถึง หนึ่งล้านสามแสนตัว และลูกม้าที่ขึ้นทะเบียนอีกปีละประมาณ 120,000 ตัว

พ่อม้าหลักสามตัว แรกคือ เจ้า ไบร์ลี่ เตอร์ก Byerly Turk (1680s),เจ้า ดาร์ลี่ อาระเบียน the Darley Arabian (1704), และเจ้า ก็อดโดฟิน อารเบียน the Godolphin Arabian (เป็นที่น่าสังเกตว่าเจ้า ก็อดโดฟิน นี้เป็นต้นกำเนิดของม้าเกือบจะทั่วโลก) นอกจากนี้ยังมีพ่อม้าอีกสองตัวที่ได้รับการยอมรับคือ เจ้าอัลค็อก อาระเบียน Alcock Arabian และเจ้า บราวโลว์ เติร์ก Brownlow Turk

ลูกหลานของสามพ่อม้าหลักดังกล่าวที่สืบทอดสายเลือดคือ
1.สายก็อดโดฟินคือ เจ้า แม็ทเค็ม Matchem ผู้เป็นหลานปู่
2.สายเบอร์ลี่ เตอร์ก เจ้า ฮีร็อด Herod ( หรือ King Herod)
3.สาย เบอร์ลี่ เตอร์กคือ เจ้า อีคลิป Eclipse เจ้าสุริยุปราคาผู้ไม่เคยแพ้ใคร เนื่องจากเจ้าตัวนี้เป็นม้าแข่งและในประวัติไม่เคยแพ้ใครเลย
ม้า Tb ที่นำมาเป็นม้าแข่งนั้นได้มีการถกเถียงกันในวงกว้างว่าอาจเป็นการทรมานสัตว์ เนื่องจากผู้เลี้ยงม้าแข่งจะนำลูกม้าที่มีอายุเพียงสองปี ซึ่งจัดว่ายังไม่โตเต็มที่เข้าแข่งขัน เนื่องจากม้า Tb มีหัวใจและกีบที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับลำตัว และอัตราการรับน้ำหนักขณะใช้ความเร็วสูง จึงทำให้การแข่งขันบางครั้งจึงมีอันตรายต่อทั้งม้าและคน
การพัฒนาพันธุ์ม้า TB ในอังกฤษ
ประมาณ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้เริ่มสร้างสนามแข่งม้าอันสุดแสนคลาสสิคขึ้นมา สนามม้าเหล่านี้ได้แก่ สนามเซนต์ เลเกอร์สเต็กส์ สนามเอ็บสัม โอ๊กส์ สนามเอ็บสัม ดาร์บี้ สนามสองพันกินนี 2,000 Guineas Stakes และสนามหนึ่งพันกินนี 1,000 Guineas Stakes สนามเหล่านี้บางแห่งห้ามนำม้าตัวเมียลงแข่ง (เช่นสนามหนึ่งพันกินนี ) แต่ส่วนใหญ่ไม่ห้าม ระยะทางที่ใช้ก็เริ่มตั้งแต่ 1600 - 2820 เมตร ได้กำหนดให้มีการใช้ระยะที่ยาวกว่าคือประมาณ 6.4 กม. ดังนั้น จึงทำให้ผู้เพาะเลี้ยงม้าเกิดการเปลี่ยนแนวทางการใช้ม้าแข่งมาเป็นม้าที่มี อายุน้อยลง
การพัฒนาความสูงของ TB ในอังกฤษเริ่มในกลาง คริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยม้า เบย์ มิดเดิลตัน ที่มีความสูงกว่า 16 แฮนด์ (มากกว่าคู่แข่งประมาณ 1 แฮนด์ คือม้า ดาร์ลี่ อาระเบียน ) ผลของชัยชนะอย่างต่อเนื่องของ TB เหนืออาหรับ นั้นเน้นย้ำว่า การเพิ่มสายเลือดอาหรับลงในม้า TB นั้นไม่น่าจะเวิร์ก เพราะในปี ค.ศ. 1885 ได้มีการจัดแข่งม้า TB ชื่อ ไอแอมบิค กับม้าอาหรับชื่ออาซิล การแข่งขันใช้ระยะทางประมาณ 4800 ม. โดยเจ้าไอแอมบิคแม้ว่าต้องแบกน้ำหนักเพิ่มอีก 29 กก. ก็ยังชนะเจ้าอาซิลไปได้โดยทิ้งห่างถึง 20 ช่วงตัว ย่างเข้าศตวรรษที่ 20 ความกลัวที่ว่าม้า Tb อังกฤษจะถูกม้าอเมริกันมาไหลบ่ามาบดบังรัศมี (สนามม้าของอเมริกันโดนปิดในปี 1913 ทำให้ม้าอเมริกันถูกส่งมาแข่งที่อังกฤษ ) ดังนั้นอังกฤษจึงออกมาตรการเจอร์ ซี่, Jersey Act โดยได้มีการห้ามม้าที่ไม่สามารถหาบรรพบุรุษของตนเองได้จากเจนเนอรัล สตัด บุ๊ค มาบันทึกเพื่อทำสมุดทะเบียนประวัติได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจุดประสงค์จะรักษาพันธุ์ TB บนเกาะอังกฤษเอาไว้ให้บริสุทธิ์ให้ได้ แต่กฎนี้มีผลต่อม้าจากอเมริกันน้อยมาก เนื่องจาก การทำสมุดประวัติทะเบียนม้าอเมริกัน American Stud book นั้นเพิ่งเริ่มทำหลังจากอังกฤษให้กำเนิด เจนเนอรัล สตัด บุ๊ค หรือที่เรียกว่า GSB มาแล้วประมาณ 100 ปี จึงทำให้มีม้าอเมริกันได้เปรียบ เนื่องจากมีม้าเพียงตัวสองตัว เท่านั้น ที่ไม่สามารถหาประวัติย้อนไปยัง GSB ได้ แต่ภายหลังก็ได้แก้กฎนี้ให้สำหรับม้าที่สามารถตรวจสายพันธุ์ย้อนหลังไปได้ 9 รุ่น จากสมุดทะเบียนประวัติมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับมาก็เพียงพอสำหรับการขึ้น ทะเบียน สถานการณ์จึงคลี่คลายม้า TB ในอเมริกา
ม้าตัวแรกที่นำเข้า อเมริกาชื่อเจ้าบุนร็อค Bulle Rock โดยท่านซามวล กิสท์ เมื่อปี ค.ศ. 1730 ที่เมืองแฮนโนเวอร์ รัฐเวอร์จิเนีย และที่รัฐนี้ก็ถือว่าเป็นศูนย์กลางม้า TB แห่งอเมริกาเลยทีเดียวเชียว และในช่วงเวลาการปฏิวัติอเมริกานั้น ได้มีการระงับการนำเข้าม้าจากอังกฤษและเริ่มใหม่เมื่อมีการเซ็นสัญญาสงบศึก หลังสงบศึกก็ได้มีการนำเข้าพ่อม้าสองตัวกลั่นคือ เจ้าเมสเซนเจอร์ผู้นำข่าวสาร (Messenger) กับม้า ดิโอเมด (Diomed) พ่อม้าเมสเซนเจอร์นั้นหากจะว่าไปแล้วมีผลงานไม่โดดเด่นนัก แต่ก็ถือว่าเป็นต้นสายของม้าพันธุ์สแตนดาร์ดเบรต Standardbred ที่ลือลั่นของอเมริกันชน สำหรับพ่อม้า ดิโอเมด มีผลิตผลที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดคือลูกของเขา ม้าเซอร์ อาร์ชี Sir Archy ได้แชมป์ที่สนามดาร์บี้ Derby Stakes ภายหลังการปฏิวัติอเมริกา เมืองหลวงของม้าที่นั่นย้ายไปทางตะวันตก นั่นคือเมืองเคนตั๊กกี้และ เทนเนสซี
การแข่งม้าที่ถือว่าเป็นสุดยอดในยุคต้นศตวรรษที่ 19 มีอยู่ไม่กี่ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 1823 ที่เมืองลองไอส์แลนด์ รัฐนิวยอร์ก เป็นการปะทะกันระหว่าง เซอร์อาร์ชี กับ อมริกันอีคลิป หรือเจ้าสุริยุปราคาดารารัศมี สิบปีให้หลัง ก็มีปะทะกัน อีกครั้งหนึ่งระหว่าง ม้าบอสตัน กับม้าแฟชั่น ที่มีการวางเดิมพันฝ่ายละ สองหมื่นเหรียญ และแม็ทช์ล่าสุดก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้คือ การปะทะกันระหว่างม้า เล็กซิงตัน กับม้าเลอคอม หรือ เลอคอมเต (Lexington and Lecompte) การแข่งครั้งแรกจัดขึ้นที่นิวออร์ลีนส์ในปี 1854 และครั้งนั้นเจ้าเลอคอมเตชนะ ภายหลังได้มีการจัดแมชท์ล้างตาขึ้นในปี 1855 และในครั้งนี้เจ้าเล็กซิงตันเป็นผู้กำชัย และม้าดังทั้งสองตัวนี้ต่างก็เป็นลูกของพ่อม้าบอสตัน ผู้สืบทอดสายเลือดมาจากเซอร์ อาร์ชี อัศวินโต๊ะกลมนั่นเอง

0 comments:

Post a Comment

 
Design by Store su | Bloggerized by Laikeng - sutoday | Court